หากพูดถึงพญานาค ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาคู่กับบั้งไฟพญานาค ที่หลายคนยังคงสงสัยว่า แท้จริงแล้วมันเกิดจากพญานาคจริง ๆ ก๊าซมีเทน หรือฝีมือมนุษย์ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนและมีข้อสรุปร่วมกันคือ แม้จะมีตำนานต่างที่มาและเรื่องเล่า แต่พลังศรัทธา ความเชื่อ ความนับถือ การยกย่องให้ “นาค” เป็นสัตว์ชั้นสูงในสังคมไทยนั้น ยังถูกส่งต่อผ่านกาลเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน วันนี้เราเลยจะพาไปรู้จักตำนานของนาคในอดีตกาลตามความเชื่อจากที่ต่าง ๆ จะมีความเป็นมาอย่างไร ตามไปอ่านกันเลยค่ะ
พญานาค คืออะไร ?
หากพูดถึงความหมายตามความเชื่อในศาสนาแบบอินเดีย นาค (नागराज)หมายถึง นาคผู้เป็นใหญ่ นาคผู้เป็นหัวหน้า และมีลักษณะคล้ายกับพญามังกร ตามคติศาสนาชาวบ้านจีน โดยจะแบ่งได้ทั้งหมด 4 ประเภท คือ ตระกูลวิรูปักข์ (ตระกูลสีทอง) , ตระกูลเอราปักข์ถะ (ตระกูลสีเขียว) , ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (ตระกูลสีรุ้ง) และตระกูลกัณหาโคตมะ (ตระกูลสีดำ) โดย มีบทบาทและถูกกล่าวถึงในไตรภูมิพระร่วง ระบุไว้ว่า นาคมีลักษณะคล้ายงูใหญ่ แต่มีหงอน ดวงตาสีแดง เกล็ดหลายสี อาศัยอยู่บริเวณบาดาลใต้เขาหิมพานต์ กึ่งสัตว์ กึ่งเทพ มีพละกำลังและอิทธิฤทธิ์มาก คือ สามารถแปลงตนและจำแลงกายได้
“พญานาค” ตามความเชื่อของคนไทย
ตามตำนาน คนไทยมีความเชื่อเรื่องของนาคมาอย่างยาวนาน แต่ที่ปรากฏอย่างชัดเจนคือ นาคตามวรรณคดี โดยใน “ไตรภูมิกถา” ที่ระบุไว้ว่า นาค คือ เดรัจฉานภูมิ และแบ่งเผ่าพันธุ์การเกิดของนาคเป็น 2 เผ่าพันธุ์ คือ ชลชะพญานาค (นาคที่เกิดในน้ำ) และ ถลชะพญานาค (นาคที่เกิดบนบก)
จนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วรรณคดีรามเกียรติ์ก็ยังใช้นาคเข้ามามีบทบาท คือ ศรนาคบาศ อาวุธประจำกายของอินทรชิต บุตรทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ในศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ อินทรชิตยิงศรนาคบาศ ที่เมื่อยิงออกไปแล้วจะกลายเป็นนาคจำนวนมาก ทั้งกัด ทั้งรัด พ่นพิษใส่พระลักษมณ์ และ ไพร่พลวานรทั้งกองทัพ พิเภกเห็นเหตุการณ์จึงแจ้งพระรามให้แผลงศรที่เรียกว่า พญาสุบรรณ เรียกพญาครุฑ มาจิกกินนาค เหตุการณ์จึงคลี่คลาย
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันอีกว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการไถลตัวของพญานาค 2 ตน จึงเกิดเป็นแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่าน และยังมีตำนานกล่าวถึงบั้งไฟพญานาค ว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นาคแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงทำบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี
พญานาคในความเชื่อทางศาสนาพุทธ
บอกชัดเจนไม่ได้ว่า “นาค” มาจากศาสนาใด แต่เท่าที่ความเชื่อทางศาสนาถูกส่งต่อ พบว่า นาคที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์กลางเกษียรสมุทรเป็นความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขณะที่นาคในศาสนาพุทธที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือ “การบวชนาค” สมัยพุทธกาล นาคนั้นเคยแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อมาขอบวชเป็นภิกษุ แต่เมื่อนอนหลับกายที่เป็นคนจะเปลี่ยนกลับไปเป็นนาคดังเดิม ความรู้ถึงพระพุทธเจ้า นาคจำเป็นต้องสึก แต่ด้วยความตั้งใจศึกษาในพระธรรม จึงทูลขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตนเองบวชไม่ได้ ต่อไปหากมีมนุษย์คนใดบวช ขอให้เรียกว่า “บวชนาค” ก่อน เพื่อให้ได้บุญกุศลต่อตนเอง
นาคตามความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู
เชื่อกันว่า พญานาคเป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ ซึ่งมีชื่อว่าพญาอนันตนาคราช เป็นต้นกำเนิดของตำนานนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือที่คุ้นหูกันมาอย่างยาวนาน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง ที่เคยถูกโจรกรรมไปเมื่อ พ.ศ. 2503 ในช่วงสงครามเวียดนาม และได้คืนมาในปี พ.ศ. 2531 แต่ไม่ว่าจะเป็นพุทธและพราหมณ์ ลักษณะการบูชาหรือพิธีบวงสรวงนาค กลับมีความเชื่อมโยงและคล้ายคลึงกัน
บั้งไฟพญานาค เกี่ยวข้องกับเทศกาลวันออกพรรษาอย่างไร ?
เนื่องจากในศาสนาพุทธนั้น มีเรื่องเล่าที่มาของนาคว่า ในสมัยพุทธกาลมีนาคตนหนึ่งมีนิสัยดุร้าย มีพิษร้ายแรงในตัวถึง 64 ชนิด สามารถอาศัยอยู่ใต้ดินหรือบาดาลได้ โดยนาคตนนี้ ได้มีโอกาสนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา จึงเลิกนิสัยดุร้าย ก่อนแปลงกายเป็นมนุษย์ออกบวชเป็นพระภิกษุอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ จึงทำให้ในวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี จะมีปรากฏการณ์ “ลูกไฟลอยขึ้นเหนือน้ำ” เกิดขึ้นที่บริเวณแม่น้ำโขง
ประชาชนที่มีจิตศรัทธา ก็ต่างมุ่งหน้าเดินทางมาที่จังหวัดหนองคายและบึงกาฬที่ถือว่าสถานที่นิยมและเป็นพื้นที่ที่จะเห็นบั้งไฟชัดเจน เพื่อเยี่ยมชมและมาเฝ้าจับตาดูลูกไฟ เสริมความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ ทำให้กลายเป็นเทศกาลที่เสริมสร้างรายได้กลุ่มคนในพื้นที่ และสร้างชื่อเสียงให้จังหวัด
อย่างไรก็ตาม อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาพูดทุกปีว่าบั้งไฟพญานาคนั้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ หากแต่เป็นผลงานของมนุษย์ที่ยิงปืนมาจากฝั่งลาว ซึ่งพอยิงปืนแล้วก็จะได้ยินเสียงเฮจากฝั่งไทย
หากอธิบายตามหลักดาราศาสตร์แล้ว จะพบว่า บั้งไฟเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่กำหนดขึ้นมาโดยมนุษย์ตามปฏิทินสุริยจันทรคติ ไม่ใช่วันที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ทำให้เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลเดิมหรือตามเฟสของดวงจันทร์ อีกทั้งยังไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวันที่พระจันทร์เต็มดวง 15 ค่ำ เดือน 11 และมีแค่มนุษย์เท่านั้นที่รู้ว่าวันออกพรรษาคือวันไหน ดังนั้น ถ้าจะบั้งไฟจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาที่มนุษย์กำหนด มันก็น่าจะมาจากเงื้อมมือของมนุษย์อย่างแน่นอน
.
ถึงแม้ว่าการเกิดบั้งไฟพญานาคอาจจะเกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่เหล่าผู้ศรัทธาก็ยังคงมีความเชื่อต่อนาค ผู้ให้พรและโชคลาภ ในขณะที่โลกของเรากำลังเดินไปข้างหน้า แต่เรื่องราวของความเชื่อก็ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่มีเหตุผลมารองรับได้ แต่ก็ยังมีเหตุผลทางด้านจิตใจมารองรับอยู่เช่นเดิม ทำให้ตำนานและความเชื่อของบั้งไฟพญานาคยังคงมีจนถึงทุกวันนี้ สามารถติดตามตำนานความเชื่อ เรื่องผีและคดีฆาตกรรมที่น่าสนใจได้ที่ ghostsfolder.com
- “ความเชื่อ” ของการขอ “หวย” ทำไมต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์? - January 13, 2025
- คดีสยองขวัญ เมียฆ่าผัวตัดคอ ถลกหนัง ตัดหัวผัวต้ม ทำอาหารให้ลูกกิน - January 11, 2025
- เปิดแฟ้ม! รวมคดีฆาตกรรมหั่นศพแช่ตู้เย็นสยอง - January 9, 2025