ประวัติ ประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพฯ ย่านเก่าแก่ที่ได้ยินชื่อจะต้องขนลุก

ประวัติ ประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพฯ ย่านเก่าแก่ที่ได้ยินชื่อจะต้องขนลุก 

หัวข้อน่าสนใจ

ประตูผี หรือแยก สำราญราษฎร์ ย่านเก่าแก่ที่ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึงร้านอร่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นราดหน้า ผัดไทย หมูสะเต๊ะ ซาลาเปา และอีกเพียบ! แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมย่านนี้ถึงมีชื่อฟังดูน่ากลัวขนาดนี้? วันนี้เราจะพาไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ของย่านเก่าในกรุงเทพฯ ที่ไม่เพียงแต่อร่อย แต่ยังมีเรื่องราวหลอน ๆ รอให้คุณรู้จักอีกเพียบ รับรองว่าชื่อประตูผีไม่ได้มาแค่เพราะบังเอิญแน่นอน

ประวัติ ประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพฯ ย่านเก่าแก่ที่ได้ยินชื่อจะต้องขนลุก 
ประวัติ ประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพฯ ย่านเก่าแก่ที่ได้ยินชื่อจะต้องขนลุก 

ที่มา ย่านประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพมหานคร

ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพระองค์ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้น เมืองในสมัยนั้นจะมีการก่อกำแพงรอบเมืองเพื่อแบ่งเขตที่อยู่อาศัยจากพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งถ้ามีคนเสียชีวิต ศพจะต้องถูกนำออกไปเผานอกกำแพงเมือง ผ่านทางประตูทางทิศตะวันออก (ซึ่งก็คือบริเวณสี่แยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบัน) จึงทำให้ประตูนี้ถูกเรียกกันว่า “ประตูผี” นั่นเอง หลังจากนั้น ศพจะถูกนำไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสระเกศต่อไป

แยก สำราญราษฎร์ ย่านเก่าแก่
แยก สำราญราษฎร์ ย่านเก่าแก่

ซึ่งประตูแบบนี้พบได้ทั่วไปในเมืองโบราณ โดยจะมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากประตูเมืองทิศอื่น ๆ คือไม่มีการลงคาถาหรืออาคมใด ๆ เพื่อให้ดวงวิญญาณที่ยังไม่ได้รับการประกอบพิธีสามารถออกจากเมืองไปได้ แต่ที่สำคัญคือการที่พระแก้วมรกตในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหันหน้าไปทางประตู เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคลเข้ามาผ่านทางนั้น อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา แนวคิดการป้องกันสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากประตูมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการสร้างปูชนียสถานอื่น ๆ มาขวางระหว่างพระแก้วมรกตและประตูผีเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านจิตวิญญาณมากยิ่งขึ้น

 ย่านประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพมหานคร
ย่านประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพมหานคร

หนึ่งในเรื่องราวที่ชวนขนลุกทุกครั้งเมื่อพูดถึง ประตูผี ก็คือเรื่องราวของ แร้งวัดสระเกศ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่ออหิวาตกโรคระบาดหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึงประมาณ 30,000 คน ร่างของผู้เสียชีวิตถูกนำไปเผาที่วัดสระเกศผ่านประตู แต่จำนวนศพที่มากมายเกินไปทำให้ไม่สามารถทำพิธีฌาปนกิจได้ทัน จึงต้องขุดหลุมฝังแทน แต่ก็ยังทำไม่ทันจนร่างกองพะเนินและกลายเป็นอาหารของฝูงแร้งที่บินลงมาจิกกิน ซึ่งสร้างความสยดสยองมากในช่วงนั้น

การระบาดของโรคอหิวาตกในกรุงเทพฯ ยังเกิดขึ้นอีกในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ที่ก็พบปัญหาการเผาศพไม่ทันเหมือนกัน โดยในบางวันมีศพถูกนำมาผู้เผามากถึง 600 กว่าศพ ทำให้ฝูงแร้งมารวมตัวที่นี่และกลายเป็นแหล่งหากินตามต้นไม้ กำแพง และหลังคากุฏิ จึงเกิดคำว่า “แร้งวัดสระเกศ” ขึ้นมา

ปัจจุบัน เราแทบไม่เห็นภาพเดิมของประตูแล้ว เพราะได้มีการรื้อกำแพงเมืองและสร้างถนนเพื่อพัฒนาเมือง รวมถึงการเปลี่ยนชื่อจาก “ประตูผี” เป็น “สำราญราษฎร์” เพื่อความเป็นสิริมงคล ย่านนี้จึงกลายเป็นแหล่งที่คึกคักไปด้วยผู้คนและร้านอาหารชื่อดังที่ดึงดูดทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้บรรยากาศความน่ากลัวในอดีตค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา