“คาโกเมะ คาโกเมะ” เพลงการละเล่น มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ที่ซ่อนความหลอนเอาไว้

“คาโกเมะ คาโกเมะ” เพลงการละเล่น มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ที่ซ่อนความหลอนเอาไว้

หัวข้อน่าสนใจ

“คาโกเมะ คาโกเมะ เจ้านกในตะกร้า เมื่อไหร่จะได้ออกมา ในคืนของรุ่งสาง นกกระเรียนกับเต่าลื่นล้ม คนที่อยู่ข้างหลังนั้นคือใคร” เนื้อเพลงหนึ่งท่อนที่ถูกใช้ร้องในการละเล่นพื้นบ้านอย่าง มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ซึ่งก็เหมือนกับการละเล่นพื้นบ้านของไทย ที่สามารถสร้างความสนุกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า การละเล่นของญี่ปุ่นมันมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น วันนี้ Ghostsfolder จะพาทุกคนไปรู้จักอีกด้านของเพลงกันค่ะ

วิธีการเล่น “มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น” หรือ “คาโกเมะ คาโกเมะ”

การละเล่น มอญซ่อนผ้าของญี่ปุ่น จะเรียกกันว่า “ฮังกาจิ โอโตชิ” (Hankachi Otoshi) ที่แปลว่าผ้าเช็ดหน้าตก โดยวิธีการเล่นนั้น จะให้ 1 คนรับบทเป็นยักษ์ นั่งปิดตา ส่วนคนที่เหลือ ยืนล้อมยักษ์เป็นวงกลม จับมือกัน คนที่เป็นยักษ์จะต้องแล้วเดินวนรอบ ๆ พร้อมกับร้องเพลง คาโกเมะ คาโกเมะ (Kagome Kagome) ไปด้วย เมื่อเพลงจบว่า “ด้านหน้าของข้างหลังคือใคร” คนที่เดินล้อมรอบต้องหยุด ส่วนคนที่เป็นยักษ์ทายว่าใครยืนอยู่ข้างหลัง โดยห้ามมอง ให้สัมผัสหรือฟังเสียงเอา

  • ถ้าทายถูก คนที่อยู่ข้างหลังมาเป็นยักษ์แทน
  • ถ้าทายผิด ยักษ์เป็นต่ออีกรอบ
วิธีการเล่น “มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น” หรือ “คาโกเมะ คาโกเมะ”
วิธีการเล่น “มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น” หรือ “คาโกเมะ คาโกเมะ”

คำว่า “คาโกเมะ” สามารถแปลได้ว่า ล้อมรอบ ล้อมไว้ หมายถึง การที่เด็ก ๆ เดินล้อมรอบ แต่จริง ๆ “คาโกเมะ” ก็ยังมีความหมายอื่น ๆ ด้วย โดยการละเล่นนี้เป็นการละเล่นที่มีอยู่ทั่วในประเทศญี่ปุ่น มีบันทึกว่ามีการเล่นกันมายาวนาน และเพลงนี้มีปรากฏในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเอโดะ แต่ไม่รู้ที่มาที่แน่ชัด แต่ในขณะเดียวกันด้วยความหมายที่กำกวมของเนื้อเพลง ทำให้มีเรื่องเล่าต่าง ๆ เกี่ยวกับความหมายที่แฝงอยู่ในเพลง

4 เรื่องเล่าที่แฝงอยู่ในเพลง “คาโกเมะ คาโกเมะ” ใน มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น

นักโทษประหาร

ว่ากันว่าเพลงประจำการละเล่น มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น แท้จริงแล้ว เป็นเพลงที่แต่งโดยนักโทษประหารในยุคเอโดะ ซึ่ง “นกในกรง” หมายถึง นักโทษที่กำลังถูกพาตัวไปประหาร เนื่องจากยุคนั้นนักโทษที่ถูกหามไปยังลานประหาร จะถูกขังอยู่ในตะกร้าคว่ำรูปร่างเหมือนกรงนก เป็นตะกร้าสาน และคำว่า คาโกเมะ ก็หมายถึงลายตะกร้าสานได้ด้วย โดยสรุปรวม ๆ แล้ว นักโทษจะได้ออกจากกรงนกก็ตอนที่จะถูกประหารนั่นเอง ส่วนท่อนที่ร้องว่า “เมื่อไหร่จะได้ออกมา” จึงหมายถึง เมื่อไหร่จะถูกประหารกันนะ เป็นประโยคที่บอกถึงการประชดประชันและความสิ้นหวัง

นักโทษประหาร
นักโทษประหาร

ในคืนที่รุ่งสาง สามารถตีความได้ว่า ทั้งยามดึกยามเช้า ก็คิดแต่เรื่องที่จะต้องถูกประหารอยู่ตลอด นกกระเรียนกับเต่า ในญี่ปุ่นคือสัญลักษณ์แห่งโชค มักเป็นเครื่องรางนกกระเรียนเต่าคู่กัน หมายถึง สุขภาพดี อายุยืน การเงินมั่งคั่ง การงานมั่นคง มีโชคลาภ เมื่อใช้คำว่าลื่น จึงหมายถึงการอับโชค โชคร้าย ตกจากความเจริญรุ่งเรือง สำหรับนักโทษก็หมายถึง โชคไม่ดี ไม่อาจมีอายุยืนยาว ต้องจบชีวิตลง และประโยคสุดท้าย “ด้านหน้าของข้างหลังคือใคร” หมายถึง ใครกันนะเป็นคนที่ตัดศีรษะ เพราะว่านักโทษจะมองไม่เห็นเพชฌฆาตที่ยืนอยู่ด้านหลัง และว่ากันว่า เมื่อศีรษะถูกตัดร่วงลงพื้นแล้ว ศีรษะของนักโทษมักจะตกลงพื้นโดยหงายหน้าขึ้น สายตาจ้องไปที่เพชฌฆาต ราวกับต้องการดูว่าเป็นใครกัน

นางโลม

ถึงแม้ว่า เพลงคาโกเมะจะเป็นเพลงที่ใช้ในการละเล่น มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ของเด็ก ๆ บ้างก็ว่าเพลงนี้สะท้อนถึงชีวิตของนางโลม เมื่อนึกถึงชีวิตของนางโลมที่ต้องอยู่ในร้านที่ทำเป็นกรงไม้ รอให้ลูกค้ามาเชยชม ซึ่งมันก็ดูไม่ต่างอะไรไปจากนกในกรงเหมือนกัน ได้แต่เฝ้ารอวันที่จะได้ออกไปเป็นอิสระ ซึ่งไม่มีวันนั้นมาถึง

นางโลม
นางโลม

ในคืนที่รุ่งสาง นกกระเรียนกับเต่าลื่นไถล หมายถึง ตอนเช้ามืด ซึ่งนางโลมพยายามจะหนีออกไป แต่ก็โชคร้ายไม่สำเร็จ และพวกเธอก็ไม่มีทางรู้ว่าในแต่ละคืนใครคือผู้ชายที่ซื้อตัวเธอ ดังประโยค ด้านหน้าของข้างหลังคือใคร

หญิงตั้งครรภ์

มีเรื่องเล่าว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่กับสามีและแม่ของสามี แต่แม่ของสามีไม่ชอบเธอ และกลั่นแกล้งเธอบ่อยครั้ง อยู่มาวันหนึ่ง เธอตั้งครรภ์ เธอและสามีไปศาลเจ้าเพื่ออธิษฐานขอให้การคลอดบุตรปลอดภัย โดยหลังอธิษฐานกับเทพเจ้าแล้ว ทั้งคู่ก็เดินลงบันไดของศาลเจ้า ขณะก้าวลงบันได ก็มีคนผลักเธอจากด้านหลัง ภรรยาที่ตั้งครรภ์ล้มตกบันได โชคดีที่เธอรอดชีวิต แต่โชคร้ายที่เธอแท้งทารกในครรภ์

หญิงตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์

และถึงแม้ว่าเพลงที่นำมาใช้ในมอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ก็ไม่ได้สวยและน่าสนุกสนานเหมือนเคย ในเรื่องเล่านี้ก็เช่นกัน มีการตีความว่า คาโกเมะ อาจจะหมายถึง ลูกที่ถูกห้อมล้อมไว้อยู่ในครรภ์ นกในกรง ก็หมายถึงลูกในครรภ์ เมื่อไหร่จะได้ออกมา ในคืนที่รุ่งสาง ตีความว่า ทั้งวันทั้งคืนคิดอยู่เสมอว่าลูกจะออกมาเมื่อไร นกกระเรียนกับเต่าลื่นล้ม หมายถึง แม่และลูก ตกบันได ด้านหน้าของข้างหลังคือใคร หมายถึง โฉมหน้าของคนที่ผลักเธอจากด้านหลังคือใคร ซึ่งคนที่ทำก็คือ แม่ของสามีนั่นเอง

คำบอกใบ้ที่ฝังสมบัติของ “โทคุงาวะ อิเอยาสุ”

เชื่อไหมว่า เนื้อเพลงสั้น ๆ ที่เด็ก ๆ ร้องกันในการละเล่น มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น นี้ สามารถถอดรหัสถึงตำแหน่งที่ซ่อนสมบัติของ “โทคุงาวะ อิเอยาสุ” (Tokugawa Ieyasu) ได้

“โทคุงาวะ อิเอยาสุ” (Tokugawa Ieyasu)
“โทคุงาวะ อิเอยาสุ” (Tokugawa Ieyasu)

คาโกเมะ คือ ลายของตะกร้าไม้ไผ่สาน ซึ่งสานเป็นรูปดาว 5 แฉก ในคำว่า นก ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า โทริ ซึ่งไปพ้องเสียงกับ โทริอิ คือเสาประตูสีแดงที่อยู่หน้าศาลเจ้า คำว่า กรง หมายถึงตะกร้าสาน นกในกรง จึงหมายถึง ศาลเจ้าที่อยู่ในดาว 5 แฉก ซึ่งถ้ากางแผนที่ดูตำแหน่งของวัดและศาลเจ้าที่เกี่ยวข้องกับโทคุงาวะทั้งหมดในภูมิภาคคันโต เมื่อลากเส้นเชื่อมวัดศาลเจ้าทั้งหมด จะได้รูปดาว 5 แฉก พอดิบพอดี

คำบอกใบ้ที่ฝังสมบัติของ "โทคุงาวะ อิเอยาสุ"
คำบอกใบ้ที่ฝังสมบัติของ “โทคุงาวะ อิเอยาสุ”

และสถานที่ที่อยู่ตรงกลางรูปดาวก็คือ ศาลเจ้านิกโกโทโชกู (Nikko Toshogu) จ.โทจิงิ ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่อุทิศให้แก่ โทคุงาวะ อิเอยาสุ อีกทั้งที่ศาลเจ้านิกโกโทโชกู มีรูปปั้นนกกระเรียนและเต่าอยู่ คำว่า ในคืนที่รุ่งสาง หมายถึง ความมืดในยามเช้า และเมื่อแสงยามเช้าส่อง รูปปั้นนกกระเรียนและเต่าจะทอดเงา นั่นคือ ความมืด ซึ่งเงาของรูปปั้นนั้น ได้ชี้ไปทางทิศของสุสานตระกูลโทคุงาวะ ด้านหน้าของข้างหลังคือใคร โดยด้านหลังของสุสาน มีเครื่องหมายคล้ายดาว 5 แฉก แต่ส่วนยอดหายไป ทำให้เป็นลักษณะชี้ลง จึงมีการคาดกันว่า สมบัติของ โทคุงาวะ อิเอยาสุ ถูกฝังอยู่ข้างใต้ แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการขุดพื้นที่บริเวณนั้น เนื่องเหตุผลว่า ศาลเจ้านิกโกโทโชกูได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก จึงไม่อนุญาตให้ขุดทำลาย

จากการละเล่นสนุกของ มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น กลายเป็นเรื่องสยอง

และด้วยความหลอนของเนื้อเพลงคาโกะเมะ ใน มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ทำให้มีการผลิตการ์ตูนอนิเมชั่นเกี่ยวกับเรื่องผี อย่าง “Yami Shibai” (ยามิชิไบ) เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘ผีญี่ปุ่น’ ซึ่งเป็นซีรีส์อนิเมะญี่ปุ่น ที่ในแต่ละตอนของอนิเมะสร้างโดยการเลียนแบบการเล่าเรื่องแบบคามิชิไบ (ละครกระดาษ) โดยซีรีส์อนิเมะจะเป็นการรวมเรื่องสั้นที่แต่ละตอนมีความยาวเพียงไม่กี่นาที และแต่ละตอนจะเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกัน โดยมีการอิงจากตำนานและตำนานเมืองญี่ปุ่น

ยามิชิไบ ซีซั่น 8 ตอน "มอญซ่อนผ้า"
ยามิชิไบ ซีซั่น 8 ตอน “มอญซ่อนผ้า”

ซึ่งก็มีตอนหนึ่ง ใน ยามิชิไบ ซีซั่น 8 ชื่อตอนว่า “มอญซ่อนผ้า” จะเป็นเรื่องราวของ ชายหญิง 4 คนประกอบไปด้วย เคียวโกะ(เสื้อแดง) ชินจิ(เสื้อเขียว) ทาคาอากิ(เสื้อขาว) ชิสึกะ(เสื้อเหลือง) ซึ่งทั้ง 4 คนได้ไปบุกสำรวจบ้านร้างแห่งหนึ่งที่มีเรื่องเล่าว่า ครอบครัวที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ ได้หายสาบสูญภายไปในคืนเดียว พอจะมีใครมารื้อหรือยุ่งเกี่ยว ก็จะหายสาบสูญไปเช่นกัน

ชิสึกะ เป็นผู้หญิงที่ปอดแหกที่สุดในกลุ่ม จำต้องฝืนใจเข้าไปกับเพื่อน ๆ แถมยังรู้สึกถึงเซนส์เกี่ยวกับผีหนักกว่าเพื่อน ๆ ซึ่งเจ้าตัวได้ยินเสียงฝีเท้าของเด็กรอบตัว เขาว่ากันว่า ห้องที่หลอนที่สุด เป็นห้องนอนของเด็กที่อยู่ชั้นบน เมื่อเข้าไปแล้ว ก็ตั้งวงกินเหล้ากัน ความหลอนจึงเริ่มขึ้น เพรัมีสมุดเล่มหนึ่งตกลงมาที่มีรูปวาดของเด็กที่เคยเล่นมอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ทันใดนั้น ชิสึกะเห็น “ผ้าเช็ดหน้า” อยู่ด้านหลังของทาคาอากิ จากนั้นเทียนก็ดับลง ทำให้ชินจิเปิดไฟฉายจากโทรศัพท์ แต่ปรากฎว่าทาคาอากิหายตัวไป! เท่านั้นยังไม่พอ ชิสึกะเห็นผ้าเช็ดหน้าวางอยู่ด้านหลังของเคียวโกะ ไฟฉายโทรศัพท์ของชินจิเกิดดับขึ้นมาอีกครั้ง แถมยังหลอกชิสึกะได้หน้าตาเฉย แต่คราวนี้เคียวโกะหายไปอีกคน!

ยามิชิไบ ซีซั่น 8 ตอน "มอญซ่อนผ้า"
ยามิชิไบ ซีซั่น 8 ตอน “มอญซ่อนผ้า”

ชิสึกะรู้สึกได้ว่ามีผ้าอยู่ข้างหลัง จึงกำและโยนไปทางชินจิด้วยอาการสั่นกลัว ก่อนที่ชินจิจะทำโทรศัพท์ตก และหายตัวไป พอชิสึกะเก็บโทรศัพท์ได้ จึงร้องไห้อย่างหวาดกลัวที่เหลือแต่ตัวเธอคนเดียว พอแบตโทรศัพท์หมด ก็มีเสียงออกมาว่า “พี่สาวเป็นคนวางผ้านะ”

โดยสรุป คือ ทั้ง 4 คนมานั่งวงล้อมกินเหล้ากันในห้องเด็กก็เลยถูกผีเด็กเล่นมอญซ่อนผ้า แล้วค่อย ๆ หายไปทีละคนจนหมด

และนี่ก็คือเรื่องราวสุดหลอน กับความหมายที่ซ่อนอยู่ในเพลง คาโกเมะ เพลงประจำการละเล่น มอญซ่อนผ้าญี่ปุ่น ไม่น่าเชื่อเลยว่า เพลงที่ดูไม่มีอะไร แถมยังนำมาใช้ในการละเล่นของเด็ก ๆ จะมีเนื้อหาและความหมายน่ากลัวแฝงอยู่ ซึ่งแท้จริงแล้วความหมายมันอาจจะไม่มีอะไร และตำนานที่เล่า ๆ กันมาก็เป็นแค่ตำนาน เพราะไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เราก็ยังคงรู้สึกหลอนขึ้นมานิด ๆ