สัปเหร่อ อาชีพที่ใครหลายคนมักมองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่รู้หรือไม่ว่า อาชีพที่ส่งคนตายสู่ดินแดนที่ห่างไกลต้องแลกและเสียสละอะไรบ้าง วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับอาชีพที่มีเกียรติและมีความสำคัญไม่น้อยหน้าอาชีพไหน แถมสัปเหร่อยังมีเป็นอาชีพที่รายได้แพงแสนแพง ถ้าเกิดอยู่ถูกที่ จะจริงรึไม่?
ทำความรู้จักกับคำว่า “สัปเหร่อ”
“สัปเหร่อ” มีที่มาจากหลากหลายแหล่งอ้างอิง โดยในหนังสือ “ประเพณีเนื่องในการตาย” ของ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) กล่าวไว้ว่า ‘เป็นภาษาเขมรออกเสียงคำว่าสัปบุรุษว่าสัปเรอ คำเดียวกัน ถ้าใช้ก็เป็นเกียรติแก่สัปเหร่ออยู่เพราะปลงตก’ หรือแปลความหมายได้คร่าว ๆ ว่า น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร คือ สัปเรอ ซึ่งคำนี้ก็รับมาจากภาษาบาลีอีกทีหนึ่ง
ซึ่งหน้าที่ของสัปเหร่อจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีคนเสียชีวิต เป็นอาชีพที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน โดยจริง ๆ แล้ว เป็นหนึ่งในอาชีพที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในสังคม โดยเฉพาะธรรมเนียมประเพณี งานปลงศพ จัดการความเรียบร้อยของศพ ของชาวพุทธที่มีมากกว่าครึ่งประเทศ โดยความหมายของสัปเหร่อตามความหมายของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า เป็นคำนามกล่าวคือ ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศพตั้งแต่ทำพิธีมัดตราสัง จนกระทั่งนำศพไปฝังหรือเผา
ความเป็นมาและพิธีกรรมส่งคนตายสู่ภพภูมิต่างมิติ
หากย้อนเวลากลับไปในอดีตช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เคยปรากฏตำแหน่ง “ขุนกะเฬวราก” หรือบางคนเรียกว่า “นายป่าช้า” ในสมัยนั้น ซึ่งทำหน้าที่ปลงศพและจัดการความสยดสยองของบุคคลสิ้นลมหายใจให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น หลังจากประเทศไทยในสมัยนั้นเริ่มปฏิรูปให้บ้านเมืองเข้าสู่ความทันสมัย เหล่าเจ้าขุนคุณนายก็ต่างปรับตัวและรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว อาหาร รวมไปถึงจัดการความเรียบร้อยในเรื่องศพ ซึ่งพ่วงมาด้วยความเชื่อที่ว่าศพคือ “ความอุจาด” ทำให้จากเดิมที่มักจะทิ้งซากศพไว้ไม่เป็นที่ทาง โยนให้เหล่านก กา หมา กัดกินได้ตามใจชอบ ก็สั่งการให้รัฐสยามเข้ามาจัดการ
โดยในปัจจุบันได้มีคำราชการกำหนดหน้าที่ให้สัปเหร่อเป็นงานประเภทที่ 5 คือพนักงานบริการ และพนักงานขายในร้านค้าและตลาด ในหมวด 51 คือเป็นพนักงานให้บริการในเรื่องส่วนบุคคลและบริการด้านการป้องกันภัย กำหนดเป็น “สัปเหร่อและเจ้าหน้าที่ฉีดยาศพ” ทำหน้าที่จัดการเผาศพและฝังศพ รักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อยด้วยการฉีดสารเคมีในร่างศพ รวมถึงการทำพิธีต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการศพทั้งหมด
ข้อมูลจาก silpa-mag.com
ผู้ส่งคนตายสู่ดินแดนที่แสนไกล ต้องเจอกับอะไรบ้าง ?
ซึ่งอาจจะ เนื่องจากสัปเหร่อ เป็นงานที่ต้อง “เหนื่อยทั้งกายและใจ” อย่างในบางโอกาสอาจจะต้องรับงานวันละหลายครั้ง หรือไม่ก็อาจจะได้รับโทรศัพท์กลางดึกเพื่อให้ไปจัดการงานศพ และหลายครั้งร่างผู้เสียชีวิตก็อาจจะเป็นกลุ่มผู้อนาถา ผู้ป่วยจากโรคต่าง ๆ รวมทั้งอาจเป็นเด็กอีกด้วย
อีกเรื่องที่คนทำอาชีพนี้จะต้องรับมือ คือครอบครัวผู้ตายอาจจะมีคำขอร้องพิเศษหรือแปลก ๆ รวมไปถึงต้องอยู่รายล้อมด้วยเสียงร้องไห้ระงมของผู้คน และยังต้องอยู่ในบรรยากาศโศกเศร้าที่ผู้ร่วมงานบางคนอาจจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้จากความสูญเสีย ทำให้สัปเหร่อกลายเป็นเป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับการจากลา ความโศกเศร้า และคราบน้ำตาของครอบครัวผู้วายชนม์อยู่ทุกวัน
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเผชิญสำหรับสัปเหร่อในไทย หรือ ทุก ๆ ประเทศ คนจะรู้สึกรังเกียจ ดูสกปรก เพราะเขาจับศพ แตะต้องตัวศพ แต่พอเราได้เห็นความตั้งใจ ความละเอียดหรือศิลปะของอาชีพนี้แล้ว เราจะมีมุมมองที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะตั้งแต่ จัดหาเตรียมโลงศพให้เราได้เลือก อธิบายขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับงานศพ พิธีอาบน้ำ แต่งตัวศพ รดน้ำศพ สวดอภิธรรมศพ และ ฌาปนกิจศพ หรือนำศพไปเผาให้เราที่เมรุ กลายเป็นอาชีที่ไม่ว่าจะสังคมไหนก็ขาดไม่ได้ เปรียบเสมือนกับว่า เขาเป็นผู้ที่จะส่งให้เขาเหล่านั้นที่กำลังจะออกเดินทางไปที่ไกลแสนไกล เขาจะรักษาสภาพผู้ตาย ทำความสะอาด แต่งตัวให้ดูดี แต่งหน้า และ ติดของติดตัวของรักของผู้ตายไว้เขาจะทำอย่างพิถีพิถันอย่างมาก จนคนในครอบครัว อดกลั้นความรู้สึก “คิดถึง” ไว้ไม่อยู่
ส่องรายได้สัปเหร่อทั่วโลก
ในต่างประเทศ สัปเหร่อจะถูกเรียกด้วยคำที่หลากหลาย บ้างก็เรียกว่า Undertaker บ้างก็เรียกว่า Funeral Director แต่การจัดงานศพในต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตกจะมีลักษณะเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการศพแบบครบวงจร ตั้งแต่งานเอกสาร จัดเตรียมสถานที่ เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายในการเผาหรือฝังศพ
ครอบครัวของผู้วายชนม์อาจจะมีหน้าที่เพียงจ่ายเงินค่าบริการ แล้วก็เตรียมตัวร่วมงานเท่านั้น โดยแทบไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะเป็นงานและอาชีพที่ดูแปลก ไม่มงคล ไม่น่าพึ่งประสงค์เพราะต้องจัดการกับร่างผู้เสียชีวิต แต่งานนี้ถือว่าเป็นงานที่มีรายได้ไม่น้อยในต่างประเทศ ข้อมูลจากเว็บไซต์บริการอาชีพแห่งชาติของอังกฤษ National Careers Service ได้ให้ข้อมูลว่า สัปเหร่อมีรายได้ระหว่าง 20,000-27,000 ปอนด์ ต่อปี หรือราว 8.7 แสน – 1.1 ล้านบาทต่อปี
เมื่อปี 2014 มีรายงานว่า งานบริการงานศพ มีรายได้ราว 45,000-50,000 ดอลลาร์แคนาดา หรือราว 1.1-1.3 ล้านบาทต่อปี แต่หากเป็นผู้มีประสบการณ์จะได้รับรายได้สูงกว่านี้
ส่วนในไทย รายได้ของสัปเหร่ออาจจะไม่มากนัก ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อมวลชนที่เคยรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ระบุว่า สัปเหร่อชาวไทยจะมีรายได้แบบต่อครั้ง เนื่องจากมีลักษณะรับจ้างเป็นครั้งคราว มากกว่าที่จะเป็นรูปแบบองค์กร โดยราคาค่าบริการต่อครั้งจะอยู่ที่ราว 1,000 – 1,300 บาท เท่านั้น หากแต่ว่ารับจ้างจากครอบครัวที่มีฐานะหรือมีกำลังจ่าย ก็จะได้รายได้มากกว่า แต่ก็ไม่มากนัก
.
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังเป็นสังคมแห่งการแบ่งแยก ทำให้มุมมองที่มีต่ออาชีพสัปเหร่อนั้นยังไม่ดีเท่าไหร่นัก ใครที่จะประกอบอาชีพนี้ก็ยังถูกโดนดูถูก ถูกรังเกียจและถูกมองว่าเป็นงานที่สกปรก แต่ถึงอย่างไรพวกเข่าเหล่านี้ก็พร้อมเสียสละชีวิตส่วนตัวมอบให้กับผู้วายชนม์ เพื่อเดินทางสู้ดินแดนที่ไม่อาจห้วนกลับ สามารถติดตามความน่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่ Ghostsfolder
- “ความเชื่อ” ของการขอ “หวย” ทำไมต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์? - January 13, 2025
- คดีสยองขวัญ เมียฆ่าผัวตัดคอ ถลกหนัง ตัดหัวผัวต้ม ทำอาหารให้ลูกกิน - January 11, 2025
- เปิดแฟ้ม! รวมคดีฆาตกรรมหั่นศพแช่ตู้เย็นสยอง - January 9, 2025