“ขอย้ำอีกที เรื่องนี้เป็นภาพจริง ไม่ได้ถ่ายทำ คนที่เห็นในภาพก็เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่ตัวแสดง” หากใครเป็นเด็กที่เติบโตมาในช่วงยุคของดิจิตอล เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักประโยคสุดไวรัลจากรายการคดีเด็ดนี้ได้ แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันอำลา รายการวาไรตี้สุดโปกฮาอย่างคดีเด็ดได้ยุติออกอากาศ หลังสร้างความสนุกสนานของเหล่าตำรวจและชาวบ้านที่คดีสุดแสบสันมาถึง 23 ปี วันนี้ชาว Ghostsfolder จะพาคุณไปย้อนรอยรายการโปรดกันค่ะ
ศูนย์รวมความเซอร์เรียลตำรวจไทยผ่านหน้าจอทวี
ช่วงบ่ายวันเสาร์สำหรับคนไทยเมื่อสัก 10 – 20 ปีก่อน ไม่มีอะไรบันเทิงเท่าเปิดช่อง 7 สี ดูรายการคดีเด็ด ซึ่งออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุคสื่อฟรีทีวีสมัยหนึ่ง บอกได้เลยว่าค่อนข้างมีบทบาทอย่างมาก เพราะเป็นช่องทางสำหรับการสื่อสารจากหน่วยงานรัฐไปสู่ประชาชนผู้ชมทางบ้าน
ไม่เพียงมีรายการหรือการนำเสนอรายการที่ชวนขบขัน ซึ่งแฝงไปด้วยการโฆษณา พร้อมยัดเยียดความเป็น Agenda แต่ในเมื่อรายการโทรทัศน์คือสื่อบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุจรรโลงใจสำหรับประชาชน ทำให้นอกจากจะมีละครซิทคอม ภาพยนตร์ตลก และรายการวาไรตี้บันเทิงเม้าแซ่บ แต่เชื่อเลยว่าคงไม่มีรายการทีวีไหนสามารถทำให้เรื่องราวของตำรวจ กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตรได้เท่า “คดีเด็ด” รายการบันเทิงที่อยู่คู่กับช่อง 7 สี มาอย่างยาวนานมากกว่า 20 กว่าปี
ย้อนรอย-จุดเริ่มต้นของรายการคดีเด็ด
คดีเด็ด ผลิตโดย กันตนา และ บ.อิเมจิเนชั่น ริมจำกัด (I-Rim) มีรูปแบบรายการที่น่าสนใจ โดยการดึงเอาเรื่องราวสุดป่วนของเหล่าตำรวจและชาวบ้าน พล็อตง่าย ๆ ที่พอมี “ตำรวจ” เป็นตัวละครหลักแล้วกลับสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชมได้ตลอด 1 ชั่วโมงเต็ม ๆ ซึ่งในยุคแรกเริ่มคดีเด็ดนำเสนอโดยใช้การถ่ายทำเหตุการณ์จำลอง ไม่ได้เน้นการแสดงที่ตลกมากนัก ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นบุคคลต้นเรื่องเล่าที่มาที่ไปและอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนคนพากย์ทำหน้าที่บรรยายซีนต่าง ๆ เพื่อให้คนดูเข้าใจมากขึ้น
ต่อมาก็ได้เปลี่ยนวิธีการนำเสนอเล็กน้อย จากจัดฉากจำลองประกอบเรื่องเล่า ก็ปรับมาเป็นละครสั้นเพื่อเน้นให้เนื้อหาดูมีความตลกมากขึ้น โดยใช้กลุ่มดาราตัวประกอบหน้าเดิม ๆ สลับหมุนเวียนเปลี่ยนบทไปมา ตอนหนึ่งนักแสดงคนนี้เล่นเป็นโจร ตอนต่อไปคนเดียวกันอาจกลายเป็นตำรวจก็ได้
ในยุคต่อมาทางรายการเปิดโอกาสให้คนจากสาขาอาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานบริการสังคม เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ, พนักงานดับเพลิง, เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัย, แพทย์, นักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น มาร่วมแชร์เรื่องราวของตัวเอง ไม่ได้จำกัดคอนเทนต์ตัวเอง เพื่อทำแต่เรื่องตำรวจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
และต่อมาในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่ออนไลน์และมีสมาร์ทโฟนกันแทบจะทุกคน ทำให้รายการคดีเด็ดตัดสินใจปรับรูปแบบการนำเสนออีกครั้ง โดยเคยนำเสนอแบบละครสั้น ก็เริ่มมีการสอดแทรกนำเอาเนื้อหาที่เป็นกระแสหรือเอาคลิปเหตุการณ์ที่ได้จาก กล้องวงจรปิด, กล้องหน้ารถ, โทรศัพท์มือถือ มาบรรยาย
จุดพีคของรายการไม่ได้มีแค่เพียงพล็อตตลก
ยอมรับเลยว่าส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้รายการคดีเด็ดเป็นที่ถูกอกถูกใจคนดู คงเป็น พิธีกรดำเนินรายการ “หว่อง-พิสิทธิ์ กีรติการกุล” เจ้าของวลีเด็ด “แหม่ ทำไปได้” เพราะถ้าไม่ใช่เขาคนนี้ เราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า รายการจะดังมานาน 2 ทศวรรษได้แบบนี้หรือไม่ ?
แฟนรายการจดจำพิสิทธิ์ได้เป็นอย่างดีจากการแต่งกายสุภาพเรียบร้อยคลุมด้วยเสื้อสูท ที่อาจจะยืนประจำการอยู่หน้าสถานีตำรวจบ้าง ไม่ก็โผล่ไปแถวโต๊ะธุรการระหว่างตำรวจกำลังทำงานบ้าง ก่อนจะพูดเข้าเนื้อหาและสรุปเรื่องราวแต่ละคดี ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ พร้อมใบหน้าที่ตายสนิท และใช้คำพูดที่ไม่ยืดยาวนัก ง่าย ๆ แต่ได้ยินแล้วอดหัวเราะไม่ได้ในตอนสรุปจบเรื่อง
10 เทปสุดฮิตรายการคดีเด็ด
และถึงแม้ว่ารายการคดีเด็ดจะเป็นรายการวาไรตี้ที่ดูเหมือนจะตกยุค แต่กลับกลายเป็นรายการที่คนที่เติบโตมาในยุคฟรีทีวีดิจิตอลมักจดจำแล้วนึกถึงเสมอเมื่อพูดถึงรายการบันเทิงที่น่าสนใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนเองก็ป็นหนึ่งในแฟนรายการที่ยังคงดูอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่เสาร์หน้า เราคงไม่มีตอนใหม่ ๆ ให้ดูกันอีกแล้ว เพราะการเดินทางอันแสนยาวนานตลอด 23 ปี นั้นได้จบลง พร้อมความทรงจำสุดหรรษาที่พวกเขาได้มอบให้กับพวกเรา
- “ความเชื่อ” ของการขอ “หวย” ทำไมต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์? - January 13, 2025
- คดีสยองขวัญ เมียฆ่าผัวตัดคอ ถลกหนัง ตัดหัวผัวต้ม ทำอาหารให้ลูกกิน - January 11, 2025
- เปิดแฟ้ม! รวมคดีฆาตกรรมหั่นศพแช่ตู้เย็นสยอง - January 9, 2025